ประเด็นร้อน

ต้องไม่มี 'ตีทะเบียนสื่อ'

โดย ACT โพสเมื่อ May 04,2017

สมาคมนักข่าวฯ จัดเวทีเสวนาคัดค้านร่างกฎหมายตีทะเบียน ทุกเสียงไม่เห็นด้วยเพราะเกรงรัฐบาลจะเข้าควบคุมการ นำเสนอข่าวสาร

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย" โดยมีสื่อมวลชนร่วม นักวิชาการ ประชาชนร่วมงานกว่า 100 คน เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแก้ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก่อนส่งให้รัฐบาลออกเป็นกฎหมาย
        
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาคือสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยใช้เสรีภาพละเมิดสิทธิคนอื่น หรือใช้เสรีภาพก่อให้เกิดปัญหาในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อออนไลน์ ไม่ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรู้ แต่วันนี้มีเทคโนโลยีประชาชนมีสื่อในมือ ถ้าสื่อทำอะไรไม่ถูก ประชาชนอาจตั้งคำถาม ล้อเลียน หรือถูกตำหนิ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยขานรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่รัฐต้องการให้สื่อเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ต้องการให้เป็นหมาเชื่องๆ มากกว่าหมาเฝ้าบ้าน
  
"การออกใบอนุญาตเข้าควบคุมเนื้อหา ทุกอย่างเป็นเพียงข้ออ้าง สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพูดไว้ ทำสื่อให้เหมือนสิงคโปร์ประเทศที่ทำให้ทุกฝ่ายนิ่งหมด แต่ฝ่ายรัฐทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครคอยดึงคอยรั้งไว้ มันไม่ถูกต้อง" มานะ กล่าว
    

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า การมีกฎหมายแบบนี้ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์บางอย่างได้ ที่สำคัญทำให้การนำเสนอข้อมูลไปในทางที่รัฐต้องการ ซึ่งทุกวันนี้สื่อเสรีนำเสนอข้อมูลหลากหลายไปสู่ประชาชนเพื่อให้เห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสังคม ถ้าเราจะแก้คอร์รัปชั่นให้ได้ ทุกคนต้องร่วมกัน โดยเฉพาะข่าวสารผ่านสื่อมีคุณภาพเพื่อให้เกิดการตรวจสอบกันและประชาชนเกิดความหวัง
          
สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  (กสทช.) กล่าวว่า การที่มีผู้มีอำนาจจงใจใช้เฮทสปีช สร้างความเกลียดชัง ด้วยการอภิปรายในสภาระหว่างการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ว่าจับสื่อไปยิงเป้า อยากถามว่าขัดกับจริยธรรมหรือไม่
          
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อไม่ตรงกับหลักการ สะท้อนถึงความต้องการขยายอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน กับสถานการณ์ที่ขณะนี้ไม่มีฝ่ายค้านในสภาทำหน้าที่ตรวจสอบ ดังนั้น จึงมีเพียงสื่อทำหน้าที่ รายงานข้อเท็จจริง และถ้าไม่มีสื่อประเทศไทยจะเป็นอย่างไร มีเพียงมุมมองเดียวจากภาครัฐ ซึ่งตอนนี้รัฐสกัดอำนาจฝ่ายค้านไม่มี พรรคการเมืองอ่อนแอ กฎหมายเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อำนาจสุดท้ายถ่วงดุลรัฐ คือ สื่อมวลชนและออนไลน์ จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐไม่วางใจ จำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามา
          
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประชาชนถึงข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบการใช้อำนาจและการใช้งบประมาณของรัฐ จึงอยากให้รัฐบาลกลับไปดูข้อเสนอในการให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อ ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย
          
อังคณา กล่าวว่า เคยตรวจสอบคำร้องที่สื่อไปละเมิดสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะศักดิ์ศรีความเป็นมนุ ษย์ กลุ่มเพศสภาพ หรือกลุ่มคนพิการ ซึ่งต้องยอมรับว่าสิ่งที่สื่อเป็นมันสะท้อนว่า รัฐบาลควรจะสร้างประชาชนให้เป็นพลเมือง เคารพสิทธิของผู้อื่น มากกว่าใช้วิธีการไปจำกัดเสรีภาพสื่อ วันนี้มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และสถาบันตุลาการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว
          
ขณะเดียวกันก็ไม่รู้วิธีคิดที่ต้องการให้กรรมการสิทธิฯเข้าไปเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วกรรมการสิทธิจะอยู่ในสถานะเป็นกลางได้อย่างไร
          
"สังคมไทยจะย้อนไปสู่สังคมแห่งความหวาดกลัว จะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็น อยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ซึ่งการพูดของเจ้าหน้าที่ที่ใช้คำพูดต่อสาธารณะเป็นวิธีการคุกคาม ทำให้ประชาชนคิดว่าขนาดสื่อยังโดนแบบนี้ และชาวบ้านจะเป็นอย่างไร" อังคณา กล่าว
          
สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า นักการเมือง ตำรวจ สื่อมวลชน คือกลุ่มที่ประชาชนต้องการให้ปฏิรูป แม้จะไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของ สปท. แต่ก็สนับสนุนให้มีกฎหมายที่คนในวิชาชีพสื่อเข้าไปยกร่างด้วยตัวเอง กฎหมายจะต้องส่งเสริมไม่ใช่ควบคุมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจากนี้ยังมีหลายขั้นตอนอีกไกลถึงจะออกเป็นกฎหมาย
          
อลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. กล่าวว่า อยากยืนยันว่าร่างกฎหมายที่ออกจาก สปท.ซึ่งขณะนี้อยู่ ระหว่างการปรับแก้ก่อนที่กรรมาธิการสื่อมวลชนจะเสนอเข้ามาที่ประธาน สปท. ก่อนที่จะนำส่งคณะรัฐมนตรี และในตอนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ต้องมีหลักการและต้องไม่มีการตีทะเบียนสื่อโดยเด็ดขาด ถ้ามีการตีทะเบียนสื่อเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในช่วงของ ครม. หรือช่วงของ สนช. จะลาออกทันทีจาก สปท.ทันที
          
สตาฟาน แฮร์สตรัม เอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์งานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศสวีเดนมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีมากว่า 250 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยที่สวีเดนยังรวมอยู่กับประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเร็วๆ นี้ทั้งสองประเทศจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองดังกล่าวร่วมกัน อีกทั้งประสบการณ์ของทั้ง 2 ประเทศที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า บทบาทของสื่อมวลชนมีส่วนอย่างมากต่อการช่วยพัฒนาประชาธิปไตย รวมถึงสร้างความเท่าเทียมกัน ขจัดความเหลื่อมล้ำ
          
ทูตสวีเดน กล่าวว่า สื่อในประเทศสวีเดนนั้น มีเสรีภาพและพร้อมที่จะให้ประชาชนได้ตรวจสอบ อย่างกรณีที่มีประเด็นที่สื่อมวลชนลงข้อมูลที่กระทบกับประชาชน ประชาชนนั้นสามารถร้องเรียนไปยังสื่อได้ จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นและการพัฒนาร่วมกัน ทั้งทางด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจ ซึ่งเสรีภาพของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้น หากเปิดกว้างแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง แต่หากมีการปิดกั้นแล้ว รวมถึงสื่อมวลชนถูกปิดกั้นการพัฒนาส่วนนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น
          
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสื่อจะต้องทำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 หากผู้เสนอร่างยังไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รัฐบาลก็จะเป็นผู้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อยู่วาระการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐสภา โดยรัฐบาลจะพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์
          
วิษณุ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเชิญตัวแทนสื่อมาร่วมให้ความคิดเห็น เชื่อว่าสามารถหารือแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยได้

- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 - -